จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ท่าเรือ PSA ประเทศสิงคโปร์

ก่อนอื่นต้องขอแนะนำก่อนนะครับ บทความนี้ เป็นงานชิ้นแรกของผม ผมมีเคยทำงานวิจัยหลายๆ ด้านซึ่งแต่ละงานวิจัยนั้นก็จะช่วยพัฒนาตัวเราเอง ในครั้งนี้ ผมได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในทีมวิจัยของท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการวิเคราะห์ศักยภาพ โอกาสการแข่งขัน ปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือในอาเซียน โดย เป้าหมายของงานวิจัยชิ้นนี้ คือ แผนแม่บทยุทธศาสตร์การพัฒนาของท่าเรือแหลมฉบังเพื่อรองรับการเติบโตและขยายตัวรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นั่นเอง งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ใช่งานง่ายๆ นะครับ เพราะจะต้องวิเคราะห์ศักยภาพของท่าเทียบเรือทั่วอาเซียน เช่น ท่าเรือ PSA Singapore Terminal (PSA) ประเทศสิงคโปร์ ท่าเรือทันหยง ปาราปัส(Tanjung Parapus Terminal : TPT) ท่าเรือ Port Klang (North Port) ประเทศมาเลเซีย ท่าเรือสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา ท่าเรือไซง่อน ท่าเรือวุงเตา ประเทศเวียดนาม แต่สำหรับบทความนี้ ผมขอเล่าถึงท่าเรือ PSA ประเทศสิงคโปร์ นะครับ (แต่ผมไม่ได้ลงไปเหยียบพื้นท่าเรือด้วยตัวเองนะครับ)
               

ท่าเรือสิงคโปร์ (PSA Terminal) ประเทศสิงคโปร์
Port of Singapore Terminal(PSA) เป็นท่าเรือที่ใหญ่ และสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีปริมาณสินค้าผ่านเข้าออก 31.26 ล้านทีอียู ในปี 2012 PSA มีท่าเรือหลักอยู่ 5 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือ Tanjong Pagar, Kappel, Brani, Pasir Panjang Terminal 1 และ Pasir Panjang Terminal 2 มีการเชื่อมโยงกับท่าเรืออื่นๆ อีกเป็นจำนวน 600 ท่าเรือเพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ



ภาพแสดงพื้นที่ใช้สอยที่ท่าเรือ PSA กำลังดำเนินการอยู่ คือการถมทะเล
          ปัจจุบันท่าเรือ PSA เป็นท่าเรือที่ขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์มากที่สุดในโลกติดต่อกันหลายปี จากสถิติปี 2555 PSA Singapore Terminal มีสถิติขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ใกล้เคียงกับท่าเรือเซียงไฮ้ (Shanghai) ของจีน ปัจจุบันท่าเรือ PSA Singapore Terminal กำลังเร่งลงทุนขยายท่าเรือเพื่อเพิ่มความสามารถในการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นอีก      
ท่าเรือ PSA ยังได้ขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โดยรูปแบบการลงทุนในต่าง ประเทศโดยมีบริษัท PSA International เป็นตัวแทนในการลงทุนซึ่งมีท่าเรือทั้งในเอเชีย ยุโรป อเมริกา เช่น PSA Antwerp เป็นต้น
PSA ด้รับการยกย่องว่าบริหารงานดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก สายการเดินเรือที่มาใช้บริการท่าเรือ PSA โดยเฉพาะความทันสมัยในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวกันว่า PSA เป็นท่าเรือซึ่งมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศดีที่สุดในโลก โดยใช้ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดเวลาและค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังใช้ระบบคอมพิวเตอร์ CITOS หรือ Computer Integrated Terminal Operations System ซึ่งทำให้ผู้บริหารท่าเรือสามารถวางแผน ควบคุม และตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์แต่ละตู้ คนขับรถหัวลาก และเครนอย่างต่อเนื่อง
แม้ท่าเรือ PSA จะมีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลก แต่ก็พยายามปรับปรุงประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา โดยมีนวัตกรรมสำคัญ 3 ประการ
ประการแรก ระบบ “Flow-Through Gate System” ได้รับรางวัลนวัตกรรมเมื่อปี 2542 เนื่องจากเป็นระบบที่ทันสมัยที่สุดในโลก มีประสิทธิภาพเหนือกว่าท่าเรือในยุโรปหรือสหรัฐฯ ทำให้การนำเข้า-ส่งออกตู้คอนเทนเนอร์จะผ่านพิธีการศุลกากรโดยใช้เวลาเพียง 20 - 25 วินาที/คัน นับว่าเร็วที่สุดในโลก


ประการที่สอง เป็นท่าเรือแห่งแรกของโลกที่ใช้นวัตกรรมใหม่ คือ Remote-controlled Overhead Bridge Crane ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน เดิมพนักงานบังคับเครนแต่ละคน สามารถควบคุมเครนได้เพียง 1 ตัว แต่เมื่อใช้ระบบใหม่แล้ว พนักงานแต่ละคนสามารถควบคุมเครนได้มากถึง 6 ตัว โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ควบคุม คล้ายๆ กับเราใช้เมาส์ทำงานกับคอมพิวเตอร์ การทำงานจะเป็นแบบอัตโนมัติแทบทั้งหมด
ประการที่สาม มีการติดตั้งเครนขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Post-Panamax Quay Cranes เพื่อขนถ่ายสินค้าขึ้นลงเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ โดยแขนของเครนมีความยาวถึง 55 เมตร สามารถให้บริการแก่เรือที่มีขนาดความกว้างของลำตัวเรือไม่เกิน 18 ตู้ ปัจจุบันได้ก้าวสู่ “Super Crane” ซึ่งเป็นเครนขนาดใหญ่มีความยาวมากถึง 60 เมตร สามารถให้บริการแก่เรือที่มีความกว้างของลำตัวเรือมากถึง 22 ตู้
          นอกจากท่าเรือคอนเทนเนอร์แล้ว PSA Singapore Terminal ยังให้ความสำคัญต่อท่าเรือสินค้าทั่วไป (Multi-purpose terminal) โดยมีท่าเรือ Multi-purpose Terminal (MPT) of Pasir Panjang และ Sambawang Wharves ให้บริการ MPT โดยสามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าประเภทรถยนต์ได้มากกว่า 1 ล้านคัน นอกจากนั้นยังมีระบบเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพไปยังเขตอุตสาหกรรมต่างๆอีกด้วย

          ผู้บริหารของ PSA Singapore Terminal กล่าวว่าประเด็นสำคัญที่ทำให้ PSA Singapore Terminal ประสบความสำเร็จก็คือ ทรัพยากรมนุษย์ โดย PSA Singapore Terminal ให้ความความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของพนักงานอยู่ตลอดเวลาทั้งทางด้านประสิทธิภาพการทำงาน และด้านอื่นๆ
          จะเห็นได้ว่า PSA นั้น ยอมลงทุนเป็นมูลค่ามหาศาลเพื่อยกระดับการเป็นท่าเรือเศรษฐกิจระดับโลก ผมเองยังคงทึ่งในศักยภาพการบริหารจัดการขอ PSA ซึ่งการนำเข้า-ส่งออกตู้คอนเทนเนอร์จะผ่านพิธีการศุลกากรโดยใช้เวลาเพียง 20 - 25 วินาที/คันซึ่งในวันหนึ่งรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์สามารถทำรอบได้ถึง 10 รอบ แต่สำหรับท่าเรือของไทยนั้นการผ่านพิธีการศุลกากรใช้เวลาถึง 1 วันต่อ 1 รอบ !!! ท่านผู้อ่านเห็นศักยภาพไหมครับ

เอกสารอ้างอิง:
·       โบชัวร์การศึกษาดูงาน PSA Singapore Terminal วันที่ 13 มิถุนายน 2556

·       http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9480000018511 เข้าถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2556

2 ความคิดเห็น:

  1. เห็นมานานมากแระ เห็นจนเอียนตัวเงินตัวทองในประเทศไทยไปเรย

    ตอบลบ
  2. เป็นบทความที่ดีมากเลยครับ ทำออกมาเรื่อยๆ นะครับจะติดตาม

    ตอบลบ